รู้ไว้ใช่ว่า ค่าปรับใช่เล่น ถ้าไม่เน้นเคารพกฎจราจร

คิดจะเดินทางกลับบ้านช่วงเทศกาลอย่างปลอดภัย นอกจากความปลอดภัยต่อสุขภาพร่างกายแล้ว ยังต้องให้ปลอดภัยต่อเงินในกระเป๋าของท่านอีกด้วย เพราะสำหรับ “เรื่องเล็ก ๆ ” ในสายตาของใครหลายคนนั้น บอกได้เลยว่าถ้าถูกจับ ค่าปรับ “ไม่เล็ก” กันเลยทีเดียว อาทิ

ใบขับขี่ ถือว่าเป็นเอกสารสำคัญที่กรมการขนส่งทางบก ออกให้กับบุคคลเพื่อแสดงว่ามีคุณสมบัติสามารถขับขี่รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์บนท้องถนนได้ การขับขี่รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือยานพาหนะอื่น ๆ โดยไม่มีใบขับขี่ หรือมีแต่ไม่สามารถแสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อถูกเรียกตรวจ มีความผิดโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนคนที่ใบขับขี่หมดอายุ หรือ ถูกเพิกถอนใบขับขี่ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ส่วนผู้ที่ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นภาพที่เห็นจนชินตา รู้หรือไม่ว่าเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจนถึงขั้นบาดเจ็บ พิการ และเสียชีวิตมากขึ้นกว่า 20 เท่า เพราะทำให้ผู้ขับขี่เสียสมาธิปฏิกิริยาตอบสนองช้าลง และทำให้ต้องละสายตาออกจากเส้นทางเฉลี่ย 4.6 วินาที หากใช้ความเร็วรถที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จะมีผลเทียบเท่ากับการปิดตาขับรถถึง 100 เมตร โทษปรับสูงสุดสำหรับผู้ที่ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ 4,000 บาท และถูกตัดแต้มใบขับขี่ 1 คะแนน

เทศกาลกลับบ้านแบบนี้ แน่นอนว่าลูกเล็กเด็กแดงต้องเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษ กฎหมายเรื่อง “การกำหนดที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย และวิธีการป้องกันอันตราย ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ พ.ศ. 2566” หรือ กฎหมายคาร์ซีท (Car Seat) สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี มีผลบังคับใช้แล้ว หากละเลย มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และกฎหมายยังระบุให้ใช้คาร์ซีท 2 แบบ ได้แก่ 1. ที่นั่งนิรภัยชนิดนั่งหันไปทางด้านหลังรถและที่นั่งนิรภัยชนิดนั่งหันไปทางด้านหน้ารถ 2. ที่นั่งพิเศษแบบที่นั่งเสริมที่ไม่มีพนักพิง (Booster Seat) โดยที่นั่งทั้ง 2 แบบข้างต้น ต้องมีระบบยึดเหนี่ยวตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอีกด้วย

ส่วนสายซิ่งต้องยิ่งระวัง เพราะการแข่งรถในทางสาธารณะ รวมกลุ่มกันชักชวนให้แข่งรถตั้งแต่ 5 คันขึ้นไป, ดัดแปลงสภาพรถ, มีการนัดหมายล่วงหน้าเพื่อแข่งรถ, มีการแสดงออกถึงพฤติกรรมให้เห็นว่ากระทำการแข่งรถ ถือว่าผู้ขับขี่มีโทษ 2 ใน 3 ฐานแข่งรถในทาง มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ในขณะที่ผู้ประกาศหรือผู้ชักชวนให้เกิดการแข่งรถในทางสาธารณะ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 20,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษนี้ยังครอบคลุมไปถึงร้านที่ช่วยแต่งรถให้ มีโทษ 2 ใน 3 ฐานแข่งรถในทาง มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 – 10,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ

แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้เน้นๆ เพราะมีการเพิ่มโทษปรับจากเดิมถึง 4 เท่า ตามประกาศใช้กฎหมายจราจรฉบับใหม่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 กำหนดให้ในหลายกระทงความผิด ได้แก่

    ขับรถเร็วเกินกำหนด เพิ่มจาก 1,000 เป็น 4,000 บาท

    ขับรถย้อนศร เพิ่มจาก 500 เป็น 2,000 บาท

    ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง โทษปรับสูงสุดขยับจากไม่เกิน 1,000 บาท เป็น 4,000 บาท

    ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เพิ่มจาก 500 เป็น 2,000 บาท

    ไม่หยุดรถให้คนข้ามตรงทางม้าลาย โทษปรับสูงสุดขยับจากไม่เกิน 1,000 บาท เป็น 4,000 บาท

    ไม่สวมหมวกกันน็อก โทษปรับสูงสุดขยับจากไม่เกิน 500 บาท เป็น 2,000 บาท

    ดื่มแล้วขับครั้งแรก จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับ 5,000 – 20,000 บาท ถูกพักใบขับขี่ ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่

    ทำผิดซ้ำข้อหาเดิม ดื่มแล้วขับภายใน 2 ปี จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 50,000-100,000 บาท ถูกพักใช้ใบขับขี่ ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือถูกเพิกถอนใบขับขี่

    ดื่มแล้วขับทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ จำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี หรือยกเลิกใบอนุญาตขับขี่

    ดื่มแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส จำคุกตั้งแต่ 2-6 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000-120,000 บาท และถูกสั่งพักใช้ใบขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือยกเลิกใบอนุญาตขับขี่

    ดื่มแล้วขับจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต จำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท และยกเลิกใบอนุญาตขับขี่ทันที

    การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด ถ้าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถือว่าเมาสุรา

    ยกเว้นผู้ขับขี่ใน 4 กรณีต่อไปนี้ ถ้ามีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเมาสุรา คือ 1.ผู้ขับขี่ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์, 2.ผู้ขับขี่ที่มีใบขับขี่ชั่วคราว (ใบขับขี่อนุญาตแบบ 2 ปี), 3.ผู้ขับขี่ที่มีใบขับขี่ประเภทอื่น ซึ่งใช้แทนกันไม่ได้ และ 4.ผู้ขับขี่ที่ถูกยกเลิกใบขับขี่ หรืออยู่ระหว่างการพักใช้งานใบขับขี่

    สำหรับกรณีที่ไม่เป่าแอลกอฮอล์ จะถือว่า “ดื่มแล้วขับ” ทันที ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000-20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถูกศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับรถ (มาตรา 160 ตรี)

    นอกจากจะต้องเสียค่าปรับ ขึ้นศาล และเสียประวัติแล้ว บางกรณีจะโดนคุมประพฤติ และต้องบำเพ็ญประโยชน์ พร้อมเครื่องติดตามตัวตลอด 24 ชม. และอาจมีคำสั่งห้ามออกจากที่พักตั้งแต่ 22.00-04.00 น. โดยระยะเวลาคาดโทษนั้น จะขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณาคดี เพื่อลดความเสี่ยงที่จะก่อความผิดซ้ำ

และเพื่อให้ทุกคนมีแนวทางการขับขี่อย่างปลอดภัย ในช่วงเทศกาลแห่งความสุข อย่าลืม ! ดาวน์โหลดคู่มือ #Saveสมอง จากอุบัติเหตุการขับขี่ โหลดฟรีและอ่านเวอร์ชันออนไลน์ได้ คลิกเลย : https://www.thaihealth.or.th/?p=353265

กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส  เพิ่มเติมได้ที่ :

Facebook : Social Marketing Thaihealth by สสส.

Line : @thaihealththailand

Tiktok: @thaihealth

Youtube: SocialMarketingTH

Website : Social Marketing การตลาดเพื่อสังคม



ที่มาของภาพ : สสส
ติดตามช่องทางอื่นๆ:
Website : siamsport.co.th
Facebook : siamsport
Twitter : siamsport_news
Instagram : siamsport_news
Youtube official : siamsport
Line : @siamsport